ศรีนานาพรเดินเกมรุกจับมือ ม.นเรศวรวิจัย และพัฒนาต่อยอดแปรรูปกัญชงสู่ผลิตภัณฑ์ จับกระแสกัญชากัญชงฟีเวอร์

27 April 2021
แชร์:
News Image

หลังจากที่นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ขึ้นเวทีสัมมนา หัวข้อ "ปลดล็อก 'กัญชา-กัญชง' ปลุกเศรษฐกิจ รวย" ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า บริษัทมองต่อยอดกัญชาในผลิตภัณฑ์เจเล่ และการเติมสารสกัด CBD ลงในน้ำดื่มผสมวิตามิน อควา วิตซ์ ซึ่งหากผ่านกฏเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็สามารถวางจำหน่ายได้ทันที โดยเชื่อการนำกัญชาหรือกัญชงเข้ามาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ จะสร้าง impact ให้กับบริษัทแน่นอน

ล่าสุด SNNP เดินเกมรุกอย่างรวดเร็วด้วยการร่วมมือทางวิชาการกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) โดยมีแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริม และพัฒนาด้านการวิจัย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้วัตถุดิบพืชกัญชง และกัญชาและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆเป็นส่วนประกอบในการผลิต

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งด้านผลิตพืชกัญชาและกัญชง และเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของบุคคลากรในการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การศึกษาดูงาน โดยมีแนวทางความร่วมมือ ได้แก่ เพื่อส่งเสริม และพัฒนาด้านการวิจัย รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดย ใช้วัตถุดิบพืชกัญชงและกัญชาและผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ ในการผลิต ทั้งนี้ ยังส่งเสริมในการทำงานร่วมกันทางด้ำนผลิตพืชกัญชงและกัญชา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรในการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การศึกษาดูงานด้านผลิตภัณฑ์อาหาร และสนับสนุนแลกเปลี่ยนนักวิจัยของทั้งสองฝ่าย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านวิชาการ และด้าน อื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งมหาวิทยาลัยและบริษัท

นายพีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ม.นเรศวร ได้ดำเนินการทำการวิจัยและพัฒนาเรื่องกัญชงเป็นรายแรกต่อจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. โดยมีการปลูกกัญชงในสภาพโรงเรือนขนาด 250 ตารางเมตร 2 โรงเรือน และทำการวิจัยเรื่องการทดสอบการปลูกภายใต้โรงเรือนกึ่งเปิด

นอกจากนั้นจะมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกัญชง เพื่อให้มีปริมาณของกัญชงมากขึ้น โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มีการควบคุมระบบโรงเรือนเปิดด้วยระบบ IOT (Internet of Things) ซึ่งควบคุมด้วยสมาร์ทโฟนการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโตของกัญชงในสภาพโรงเรือนสำหรับความร่วมมือกับ SNNP นั้น ม.นเรศวรมีการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำในสภาพแปลงปลูกทั่วไป การปลูกในสภาพโรงเรื่อนกึ่งเปิด เพื่อทำการทดสอบสายพันธุ์ว่า สายพันธุ์ที่มีอยู่ และสายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ มีการเจริญเติบโตอย่างไร ให้ผลผลิตเรื่องเมล็ด ใบช่อดอก ในการพัฒนาต่อยอดไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม

“ม.นเรศวร มีความพร้อมในเรื่องของการทำวิจัยพืชกัญชง มีประสบการณ์ในการทำงานเรื่องกัญชง นอกจากนั้นยังนวัตกรรมที่สามารถทดสอบสารตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง โลหะหนัก และสารตกค้างอื่น มีการรับรองสาร CBD และ THC ภายใต้มาตรฐาน ISO 10,725 ซึ่งจะสามารถเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ขณะที่ในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตรก็มีโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆและมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์เครื่องมือแปรรูปในระดับอุตสาหกรรม ที่พร้อมรองรับการวิจัยร่วมกับ SNNP”

ผศ.ขนิษฐา รุตรัตนมงคล คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า งานวิจัยที่จะนำไปเชื่อมโยงกับ SNNP จะเป็นการประโยชน์จากน้ำมันของเมล็ดกัญชง รวมถึงแป้ง และโปรตีนสกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของ อย. ซึ่งอนุญาตให้ใช้เมล็ดกัญชงกับอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารได้ โดยสิ่งที่ ม.นเรศวรจะพัฒนาร่วมกับ SNNP ก็คือการให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะสาร CBD และ THC ซึ่งเป็นสารเสพติดที่จะหลงเหลืออยู่ในวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร

“เบื้องต้นจะมีการใช้เทคโนโลยีการสกัดน้ำมัน สกัดโปรตีน โดยทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าจากคุณค่าของโปรตีนที่สูง ซึ่งจะต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ หากมีการบริโภคซ้ำหลายครั้ง เพราะ อย.มีความเป็นห่วงเรื่องดังกล่าวนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้ตามมาตรฐานที่ อย. กำหนด และนำไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป”

อย่างไรก็ดี นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เคยให้ข้อมูล ว่า การปลดล็อกให้ใช้กัญชาและกัญชงถือเป็นก้าวแรกของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต ซึ่งมีตัวเลขการคาดการณ์ว่า แนวโน้มตลาดกัญชาและกัญชงจะมีมูลค่ากว่า 1.03 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567

โดยตลาดหลักคือ สหภาพยุโรป มูลค่า 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ สหรัฐ 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเอเชีย 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันพบว่ามีหลายประเทศที่เปิดเสรีการผลิตสินค้าจากพืช 2 ชนิดนี้แล้ว และถือเป็นโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการไทย

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/business/477373

แชร์:
;