วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล พา ศรีนานาพร สู่อาณาจักรขนมใน CLMV

3 January 2019
แชร์:
News Image

จากร้านยี่ปั๊วข้างโรงภาพยนตร์สู่โรงงานผลิตเยลลี่ และปลาหมึกแผ่นอันดับ 1 ในประเทศ เดินหน้าคว้าโอกาสประเทศเพื่อนบ้าน ประเดิมสร้างฐานธุรกิจในกัมพูชาและเวียดนาม พร้อมขยายอาณาจักรอุปโภคบริโภคและพลังงานต่อเนื่อง

กว่า 40 ปีของพ่อค้าขนมขบเคี้ยวที่เริ่มต้นช่วยมารดาในร้านค้าส่งขนม “ศรีวิวัฒน์” ข้างโรงภาพยนตร์ปารีส ย่านตลาดมหานาค ตั้งแต่ปี 2515 เด็กหนุ่มวัย 17 ปีขยันขันแข็งช่วยเหลือกิจการจนสามารถขยับขยายเป็นธุรกิจค้าส่งในแถบชานเมืองและครอบคลุมทั่วภาคกลางในชื่อ ศรีเจริญพาณิชย์

ป้ายร้าน “ตั้งกิมเฮง” หรือชื่อศรีวิวัฒน์ซึ่งติดอยู่บนอาคารเป็นมากกว่าความภาคภูมิใจของผู้สร้างรากฐานอาณาจักรอันแข็งแกร่งให้กับตระกูลไกรพิสิทธิ์กุลที่สามารถฝ่ามรสุมทางธุรกิจ ด้วยการเสาะหาน่านน้ำใหม่ที่ไร้คู่แข่งขัน โดยไม่หยุดยั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กลายเป็นกระแสความนิยมแจ้งเกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หลายพันล้านบาทในปัจจุบัน

บนเส้นทางการค้าที่ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบของ วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เถ้าแก่ผู้คลุกคลีอยู่ในโลกขนมและการค้าวัย 62 ปี ยังคงระลึกถึงจุดเริ่มของความเปลี่ยนแปลงจากกิจการค้าส่งที่เคยเป็นจุดเริ่มของครอบครัวต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงสู่การสร้างแบรนด์ด้วยการเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเม็ดแตงโมอบหรือเม็ดก๋วยจี๊ตราระฆัง ในโรงงานขนาดเล็กที่วัดม่วง ซ.เพชรเกษม 63 บน เนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา และผลิตขนม ประเภทแป้งในปี 2534

“เรามองว่าธุรกิจขายส่งไม่มีแบรนด์ของตัวเองแข่งขันสูงมาก จึงเริ่มต้นโรงงานผลิตเม็ดก๋วยจี๊ ในยุคนั้นขายดีแต่ยังสู้เจ้าเก่าไม่ได้ เราทำประมาณ 1 ปีจึงไปทำสายแป้งเช่น เวเฟอร์ตราคุณหนู ขาย 50 สตางค์และปรับปรุงตลอด”

วิวรรธน์ทบทวนความทรงจำในช่วงเวลาที่กิจการขนมประเภทแป้งกำลังทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะขนมปังปี๊บที่สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงและภาวะแป้งขาดตลาด เนื่องจากยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบแป้งจากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงฉุดผลกำไรลงจนแทบไม่เหลือแม้ทางออกฉุกเฉินที่สะดวกและง่ายดายที่สุดในการลดต้นทุนธุรกิจคือการปลดพนักงานหรือขึ้นราคาสินค้า

“วิกฤตทำให้เกิดโอกาส เราเลือกนำทีมงานที่มีอยู่ขยายธุรกิจเพิ่ม หลังเดินทางดูนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จากอาชีพยี่ปั๊วเดิมทำให้เรารู้ว่าอะไรเหมาะกับผู้บริโภคไทย ในจังหวะปรับเทรนด์สินค้าใหม่เราจึงนำเยลลี่แก้วและสั่งเครื่องจากญี่ปุ่นเข้ามาปรับปรุงใหม่เป็นรายแรกในไทย และเบนโตะที่ดัดแปลงผสมกับเนื้อปลา เพื่อเจือจางคอเลสเตอรอล แต่ปลาเส้นมีเจ้าตลาดอยู่เราจึงทำปลาแผ่นและเป็นอันดับ 1 เราหาน่านน้ำธุรกิจของตัวเอง ไม่คิดแข่งกับใคร”


ทันทีที่วิวรรธน์แปลงโฉมเยลลี่ถ้วยเล็กเป็นแก้วพลาสติกขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมชูจุดขายความต่างในการรับประทานแทนมื้ออาหารหรืออาหารว่างช่วยลดความอ้วน ทำให้เจเล่สามารถครองความนิยมได้นานนับสิบปี นอกจากนั้น วิวรรธน์ยังต่อยอดสินค้าขนมปังและเวเฟอร์ จากประสบการณ์จำหน่ายขาไก่และขนมปังปี๊บสมัยเปิดร้านยี่ปั๊ว ทำให้เล็งเห็นโอกาสปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและสะอาดถูกสุขอนามัยมากขึ้น รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่รอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ตราสินค้าโลตัส โดยสามารถสร้างการเติบโตด้านยอดขายแบบไต่ระดับจากหลักสิบล้านบาทถึงกว่า 800 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

“เราต้องดูเทรนด์ผู้บริโภค และสร้างความแตกต่าง เพื่อให้มีน่านน้ำธุรกิจของตัวเอง เช่น การบรรจุขนมขาไก่ในบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน หรือการทาปลาหมึกแผ่นที่เน้นแต่รสเผ็ด ทำให้ผู้บริโภคอยากลองพิสูจน์ความเผ็ด แม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะ จีน เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ทำให้ 7-Eleven ไต้หวันติดต่อเป็นช่องทางจำหน่ายเบนโตะตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว”

วิวรรธน์กล่าวถึงการเติบโตด้านรายได้จากจำนวน 5.24 พันล้านบาทในปี 2559 สู่ระดับหมื่นล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้าคว้าโอกาสในต่างแดนในแต่ละย่างก้าวของการเติบโตที่เกิดขึ้นจากความพยายามมองหาโอกาสและพร้อมปรับตัวเริ่มต้นธุรกิจนอกกรอบที่ต้องแตกต่างและเหนือกว่าคู่แข่งในตลาดเดิม

วิวรรธน์ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์รวมถึงการขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทได้เริ่มวางรากฐานด้านช่องทางการจัดจำหน่ายในกลุ่มประเทศ CLMV หรือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนามเป็นเวลามากกว่า 20 ปี โดยมีสัดส่วนรายได้การจำหน่ายในต่างประเทศประมาณ 13% นำโดยจีน 4% และกลุ่ม CLMV ราว 7% รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียอีก 2% เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์

วิวรรธน์กล่าวถึงการจับมือกับบริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด เจ้าของแบรนด์ทิฟฟี่ ร่วมทุนก่อตั้งบริษัท S.C.Food Products จำกัด โดยศรีนานาพรถือหุ้นประมาณ 60% เพื่อสร้างโรงงานผลิตเวเฟอร์ บิสกิต และเยลลี่ในประเทศกัมพูชามูลค่า 300 ล้านบาทเนื้อที่ราว 42 ไร่ ใกล้กับ จ.สระแก้ว ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ภายในปี นี้นอกจากนั้น ยังถือหุ้น 60% ในการก่อตั้งบริษัท S.C.Food Marketing จำกัด พร้อมสร้างโรงงานผลิตเยลลี่และเครื่องดื่มในกรุง Ho Chi Minh City ประเทศเวียดนาม

“ในอนาคต 5 ปี เราต้องการเติบโตต่างประเทศและในประเทศสัดส่วน 100:100 จากปัจจุบัน 13:87 ซึ่งมีความเป็นไปได้จากการขยายช่องทางการจำหน่ายและตั้งโรงงานโดยวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้งบปี 2561 และเข้าเทรดปี 2562 เพื่อใช้เงินลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต และขยายธุรกิจยังต่างประเทศ เราต้องการก้าวไปอย่างมั่นคง”

ก้าวสู่อุปโภคบริโภคถึงพลังงานความสามารถในการก่อร่างสร้างธุรกิจของวิวรรธน์ไม่จำกัดเฉพาะด้านขนมและเครื่องดื่ม แต่ยังขยายขอบเขตไปยังธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งยังถือหุ้นราว 7.50% หรือ 69.16 ล้านหุ้น หลังบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai

“การลงทุนธุรกิจใหม่ไม่ใช่เพราะเห็นโอกาส แต่เพราะต้องการขยายธุรกิจให้ทายาท เช่น ในช่วงที่เราเริ่มต้นธุรกิจพลังงาน แม้จะเป็นเทรนด์ใหม่ แต่ยังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่มาก เนื่องจากลงทุนสูงและยังไม่มั่นใจในผลตอบแทนแต่เมื่อถึงเวลาเทรนด์เปลี่ยนตาม ทำให้ธุรกิจเติบโต เช่นเดียวกับธุรกิจปาล์ม และสินค้าอุปโภคที่เรากำลังจะดำเนินการอย่างจริงจังหลังศรีนานาพรเข้าตลาดฯ” วิวรรธน์กล่าวถึงแผนการต่อยอดทางธุรกิจพลังงานและกลุ่มอุปโภคบริโภค จากประสบการณ์การสร้างธุรกิจที่ทำให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ นวัตกรรมและการกระจายสินค้า

นอกจากนั้น วิวรรธน์ยังสามารถเสริมรากฐานธุรกิจของครอบครัวให้แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ด้วยการขยายขอบเขตของกลุ่มธุรกิจจากขนมและเครื่องดื่มสู่สินค้าอุปโภคและบริโภค ตลอดจนพลังงาน โดยมีโรงงานน้ำมันปาล์มและโรงงานน้ำตาลเป็นเสมือนห้องครัวผลิตสินค้าให้ศรีนานาพร ซึ่งครอบคลุมถึงวัตถุดิบสำคัญในน้ำตาล ซอส ซีอิ๊ว เนย มาการีน เป็นต้น พร้อมใช้รูปแบบธุรกิจเดียวกัน ได้แก่ การสร้างแบรนด์การขยายช่องทางจำหน่าย และการพัฒนาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ตอบโจทย์ความต้องการและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

“ผมอยากให้นึกภาพ CP หรือ TCC ที่มีหลายธุรกิจประกอบกัน ซึ่งจุดกำเนิดของเรามาจากพ่อค้า ทำให้มองเห็นช่องว่างและโอกาสการเติบโตของสินค้า เราสามารถต่อยอดขนมและเครื่องดื่มเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคได้ จากปัจจุบันเรามีศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ต่างๆ เรามี SNNP International เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ศรีนานาพรถือหุ้น 100% และถือเงินลงทุนในต่างประเทศ เช่น กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงเราเพิ่งตั้งศรีนานาพร ดิสทริบิวชั่น เป็นหน่วยรถ”

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร

ที่มา : http://forbesthailand.com/asianbiz-detail.php?did=2527

แชร์:
;